วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2551

ระดับการฟังจาก มติชน

สี่ระดับของการฟัง "Listen to others and to what life calls you to do" OTTO SCHARMERคอลัมน์ จับจิตด้วยใจโดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ drwithan@hotmail.comในคอลัมน์นี้ผมได้เขียนเรื่อง "การฟัง" เยอะมาก เพราะลึกๆ แล้วผมเชื่อเหลือเกินว่า "เรื่องการฟัง" นี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆ ในการที่นำพาเราให้เข้าใจอะไรๆ ได้เรียนรู้อะไรๆ ได้หลายๆ อย่างมากขึ้นในชีวิตครั้งนี้ก็ยังอยากที่เขียนถึงเรื่องของการฟังอีก และเป็นเรื่องราวที่ออตโต ชาร์มเมอร์ เจ้าของทฤษฎียู ได้เขียนไว้ในหนังสือ Theory U ของเขา ชาร์มเมอร์เป็นนักคิดที่มีความละเอียดและมีกรรมวิธีในการจัดแบ่งเรื่องราวเพื่ออธิบายให้เข้าใจได้อย่างเป็นระบบในแง่ของการฟังนั้นชาร์มเมอร์ก็ได้จัดแบ่งออกมาเป็น "การฟังสี่ระดับ" เหมือนกัน ซึ่งในฐานะที่ผมเองมีความสนใจเรื่องการฟังนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อศึกษาดูก็ได้พบว่า วิธีการแบ่งเป็นสี่ระดับของชาร์มเมอร์นี้ มีประโยชน์มากครับการฟังระดับที่หนึ่งในระดับที่หนึ่งนี้คือ การฟังที่ใช้วิธีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว (Reacting) เป็นการดาวน์โหลด "ชุดข้อมูลเก่า" ที่เรามีอยู่ในสมองมาตอบโต้อย่างรวดเร็ว เช่น ถ้ามีคนพูดถึงคนที่เราเกลียดหรือไม่ชอบหรือมาด่ามาว่าเรา เราก็อาจจะแปลผลและโต้ตอบโดยการใช้ชุดข้อมูลเก่าๆ ที่เรามีอยู่ในทันทีทันใดเราไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่จากการฟังในระดับนี้ เราเพียงตอบสนองต่อสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าอย่างรวดเร็วเท่านั้นการฟังระดับที่สองเป็นการฟังที่เราพยายามที่จะแก้ไขปัญหา เพราะเมื่อเราเริ่มรับรู้แล้วว่า อืมม..การฟังของเรายังไม่ค่อยดีนะ เรายังมีปัญหาเรื่องการรับฟังอยู่นะ เรายังไม่ค่อยได้ฟังลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา เรายังไม่ได้ฟังลูก ไม่ได้ฟังสามีหรือภรรยาของเราอย่างดีมากเพียงพอนะ เราก็จะพยายามที่จะตั้งใจฟังมากขึ้นเราพยายามค้นหา "เทคนิคต่างๆ ในการฟัง" บางทีเราอาจจะพยายามไปหาหนังสือฮาวทูเกี่ยวกับการฟังมาอ่าน หรือพยายามที่จะไปเข้าเวิร์กช็อปที่มีการฝึกเรื่องของการฟังซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งหมดทั้งสิ้นเราเริ่ม "เปิดความคิด" ของเรา แต่อย่างไรก็ตาม การฟังในระดับที่สองนี้ยังเป็น "การฟังเพื่อจับผิด" เป็นการฟังเพื่อยืนยันว่า สิ่งที่เราคิดสิ่งที่เราเห็นนั้นถูกต้อง ของคนอื่นอาจจะยังไม่ถูกต้องนะ ยังเป็นการฟังเพื่อเปรียบเทียบว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดีการฟังในระดับนี้ยังไปไม่พ้นการตัดสินเรื่องถูกหรือผิดการฟังระดับที่สามในระดับที่สามนี้เป็นการฟังที่ต้องอาศัย "การเปิดหัวใจ" ซึ่งจะลึกซึ้งมากไปกว่าการ "เปิดความคิดในระดับที่สอง" "การเปิดหัวใจ" นี้หมายความว่า เราเริ่มรู้สึกจริงๆ กับคนที่กำลังพูดคุยกับเรา เราเริ่มฟังผ่านมุมมองของคนที่อยู่ตรงหน้าเราเราเริ่มด้วยการ "เปิดพื้นที่" ในตัวเราให้ว่างเพื่อให้ "คำพูด" ของคนที่เราสนทนาด้วยไหลผ่านเข้ามาในตัวเราได้ เหมือนกับกิจกรรมการฟังเพลงที่ผมเคยเล่าไปในคอลัมน์นี้ เมื่อเรายอมให้เสียงดนตรีไหลผ่านตัวเราได้ เป็นหนึ่งเดียวกันกับตัวเราได้เมื่อไร เราถึงจะสามารถ "รับรู้" แบบเดียวกันกับคนที่อยู่ตรงข้างหน้าเราการฟังในระดับนี้จะทำให้เรา "รู้สึก" เหมือนกับที่คนพูดกำลังรู้สึก รับรู้อารมณ์ที่แท้จริงของเขาว่า เขากำลังสื่อสารอะไรอยู่บอกตรงๆ นะครับว่า การฟังในระดับนี้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากถ้าตรงนี้เราจะทดลองฝึกการใช้ "ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล"ผมเขียนไม่ผิดนะครับ "ลองใช้อารมณ์ให้มากกว่าเหตุผล" เราถึงจะเข้าใจการฟังในระดับที่สามนี้ได้การฟังระดับที่สี่การฟังในระดับนี้เป็นการฟังในระดับที่ลึกที่สุด ตามทฤษฎียูแล้ว การฟังในระดับที่สี่นี้คือ การฟังที่อยู่ ณ ก้นตัวยูเป็นการฟังไปถึง "ความหมายที่แท้จริง" ที่ผู้พูดต้องการจะสื่อเป็นการฟังที่ไม่ใช่ฟังแต่เฉพาะคนที่อยู่ตรงหน้าเรา เราจะฟัง "ตัวตน" ของเขาทั้งหมด ตัวตนทั้งในอดีตและอนาคตของคนคนนี้ สิ่งที่คนคนนี้ต้องการจะสื่อสาร และในขณะเดียวกัน เราก็จะรับฟังได้ถึงบริบทรอบข้างทั้งหมดของเขาและของสถานการณ์ทั้งหมดในขณะนั้นเป็นการฟังที่บางครั้งเราอาจจะได้ยินคำพูดของเราออกมาจากปากของเขาเป็นการฟังที่เราจะได้ "ความสดใหม่" ของอะไรบางอย่างที่ปรากฏขึ้นมา ณ ขณะนั้น ณ เสี้ยววินาทีนั้น เป็นการฟังที่เราอาจจะได้ "ความรู้ใหม่" ที่สังเคราะห์และกลั่นตัวผ่านตัวเราแล้วแวบออกมาในความคิดของเรา และอาจจะเป็นการฟังที่ทำให้เราได้ยินเสียงว่า "ชีวิตต้องการให้เราทำอะไร?" @@@@@@@@@@@@@@@@ออตโต ชาร์มเมอร์ จบปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์และการบริหารจัดการ เขาทำเรื่องกระบวนการเรียนรู้มากมาย และเขาพบว่าเรื่องแรกที่สำคัญที่สุดที่จะนำพาให้เราเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้นั้น ต้องอาศัย "ทักษะการฟัง" ทั้งหมดทั้งสิ้นผมเข้าใจว่า ในเบื้องต้นนี้เราอาจจะต้องกลับมา "สังเกตดูว่า" การฟังของเราแต่ละคนที่ใช้กันอยู่ในแต่ละสถานการณ์แต่ละเวลานั้นเป็น "การฟังในระดับไหน?"และเราคิดว่า "การฟังในระดับใด" ที่จะสามารถช่วยเอื้อให้เกิดการสื่อสารที่ลึกซึ้งและความเข้าใจอันดีระหว่างกันได้? และเราจะต้องอาศัยอะไรบ้างในการพัฒนาตัวเราให้ไปสู่ "การฟังในระดับที่เราต้องการนั้นได้?" หน้า 6