วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ธรรมของผู้ดีคอลัมน์ ธรรมะ จากข่าวสด

ธรรมของผู้ดีคอลัมน์ ธรรมะวันหยุดพระราชสุธี (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com watdevaraj@hotmail.comธรรมของผู้ดี หรือคุณสมบัติของคนดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ 7 ประการด้วยกัน คือ 1.รู้จักเหตุ 2.รู้จักผล 3.รู้จักตน 4.รู้จักประมาณ 5.รู้จักกาล 6.รู้จักบริษัท 7.รู้จักบุคคลประการที่ 1 รู้จักเหตุ หมายถึง รู้เหตุเป็นที่ตั้งที่เกิดของผล ผลดีเป็นความสุขความเจริญ หรือผลไม่ดีเป็นความทุกข์เสื่อม แล้วแต่เหตุ ทำเหตุอย่างไรย่อมได้ผลอย่างนั้น ทุกคนต้องการความสุขความเจริญ ไม่ต้องการความทุกข์ความเสื่อม จึงต้องรู้จักตัวเหตุว่าเหตุนี้เป็นที่ตั้งที่เกิดของผลดีหรือผลไม่ดีก่อน เมื่อรู้ว่าเป็นที่ตั้งที่เกิดผลดีจะได้ทำเหตุเช่นนั้น เมื่อรู้ว่าเป็นที่ตั้งที่เกิดผลไม่ดีจะได้ไม่ทำเหตุเช่นนั้น ความเป็นผู้รู้จักเหตุทำให้เป็นคนรู้ดี รู้ชอบ รู้ถูก รู้ผิด ทำให้เป็นคนพินิจพิเคราะห์ไม่ผลีผลามทำไปตามใจประการที่ 2 รู้จักผล เป็นคู่กับประการที่ 1 คือ เหตุ เพราะฉะนั้นผลจึงสำเร็จมาจากเหตุ เหตุเป็นอย่างไรผลก็เป็นอย่างนั้น เหตุและผลที่ธรรมชาติกำหนดไว้ถูกต้องเสมอ ไม่ต้องตัดเติม ไม่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง เหตุและผลที่บุคคลกำหนดไว้ไม่แน่นอนว่าจะถูกต้องตรงกันเสมอไป เพราะคนมีกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง นั่นเอง ประการที่ 3 รู้จักตน คือ รู้ว่าตนของตนเป็นมาอย่างไร แต่เดิมเป็นอย่างไร ตอนนี้เป็นอย่างไร ดีกว่าเดิมหรือเท่าเดิมหรือทรามกว่าเดิม ดีนั้นดีเพราะทำอย่างไร ทรามนั้นทรามอย่างไร ตรวจดูตนของตนอยู่เสมอ ไม่ลืมตัวไม่เผลอตัว เมื่อตรวจดูตนของตนอยู่เสมอจะได้ปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ไม่ดี ส่งเสริมส่วนที่ดี ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมแก่ฐานะ เพศ และวัย ประการที่ 4 รู้จักประมาณ คือ รู้กำหนดความสมควร เหมาะสม ถ้าทำผิดเกินกำหนดความเหมาะสมย่อมเกิดความเสียหาย สิ่งที่เป็นประโยชน์แท้ๆ แต่ผิดประมาณไปย่อมเกิดโทษ ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีกำหนดความเหมาะสมอยู่ในตัว คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามใจคน ดังนั้น ต้องปฏิบัติตนให้เข้ากับกำหนดความเหมาะสม ไม่ถือตนเป็นประมาณ คนอยู่ด้วยกัน ทำงานร่วมกัน หรือเจรจาเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน จึงจะได้รับผลประโยชน์ที่ดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันประการที่ 5 รู้จักกาล ให้การงานกับเวลาสัมพันธ์กัน เวลาใดควรทำสิ่งใดอย่างใด เวลานั้นก็ควรทำสิ่งนั้นอย่างนั้น ทำให้ทันท่วงที มีเหตุการณ์ขัดข้องก็จัดการแก้ไข หรือมีผลประโยชน์เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก็ถือเอาผลประโยชน์ได้ในทันทีทันใด ไม่ชักช้าหรือไม่รีบด่วนเร่งร้อนกว่าเวลาอันสมควร ประการที่ 6 รู้จักบริษัท คือ รู้จักหมู่ชนว่าเป็นคนชนิดไหน ติดต่อร่วมงานกับหมู่ชนนี้จะให้คุณหรือเป็นโทษ ยึดถือเอาความเห็นของหมู่ชนเป็นประมาณ และปฏิบัติตนให้เข้ากับคนทั้งหลายได้ในฐานะเป็นผู้ปกครอง รวมถึงรู้จิตใจความเป็นไปของหมู่ชนในปกครองของตน จึงบริหารการปกครองได้อย่างถูกต้องประการที่ 7 รู้จักชนิดของบุคคล คือ รู้ว่าคนพาลไม่ควรคบ ควรคบหาสมาคมกับบัณฑิต วางใจในคนที่เป็นมิตร ป้องกันภัยจากคนที่เป็นศัตรู กตัญญูกตเวทีต่อผู้มีคุณแก่ตน ยกย่องคนที่ทำประโยชน์แก่บ้านเมือง ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ในการงาน คนใดมีความรู้เชี่ยวชาญ สามารถในทางไหน ก็ให้คนนั้นปฏิบัติงานตามความรู้ความชำนาญของเขาธรรมของคนดีแต่ละข้อเป็นเหตุให้เกิดความสุขความเจริญ เมื่อปฏิบัติได้ครบทั้ง 7 ข้อก็เป็นเหตุให้มีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้น ผู้มีปัญญาพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า ธรรมของคนดีนี้ใช้ได้ทุกสมัย ไม่ล้าสมัยสักข้อเดียว เพราะฉะนั้นผู้หวังความสุขความเจริญแก่ตนพึงปฏิบัติตามธรรมของคนดีดังกล่าวมา สมด้วยพระคาถาพุทธภาษิตว่า "ธรรมของคนดี ย่อมไม่เข้าถึงความเสื่อมโทรม" คือ ไม่ล้าสมัย ทันสมัยเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น: