วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

บ้านอาจสามารถ นครพนม จากมติชน

รู้จักชาวแสก เมืองนครพนมอุษาคเนย์ นงนวล รัตนประทีป
"นครพนม" เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง เรียกว่า "แสก" อาศัยอยู่ ชาวแสกมีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และวิถีชีวิตเป็นอัตลักษณ์ผศ.สมชาย นิลอาธิ นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยอุบล ราชธานี เป็นหนึ่งในผู้ที่สนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมภาคอีสานของไทย เล่าให้ฟังในการบรรยายวัฒนธรรมชาวแสกในนครพนม ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ว่า ชาวแสก จ.นครพนม เป็นชนชาติน้อย มีวัฒนธรรมท้องถิ่น ภาษาพูดเป็นของตัวเอง ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จากการที่ได้ศึกษา และสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ในอีสาน พบว่า ชาวแสก มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเวียดนามภาคเหนือ พอมีปัญหาต่างก็เคลื่อนย้ายกระจัดกระจายไปตามแถวชายแดนประเทศต่างๆ เช่น จีน ลาว และไทย ชาวแสกในปัจจุบันบางส่วนอยู่ตอนใต้ประเทศจีน ทางมณฑลยูนนาน เลี่ยงไปทางตะวันออกก็เข้าเขตกวางสี ในส่วนของลาวเข้าเขตตอนเหนือแขวงคำม่วน แขวงบอลิคำไซ และจากแขวงคำม่วนเข้ามาทางท่าแขกริมฝั่งแม่น้ำโขง จ.นครพนม ในภาคอีสาน
ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่า และประวัติศาสตร์ที่นักวิชาการลาวเขียนไว้ น่าจะเป็นไปได้ว่าถิ่นเดิมของแสกมาจากเวียดนามเหนือ ใกล้กับเมืองเวียงไซ ซำเหนือ แขวงหัวพัน จากนั้นอพยพแตกกระจาย พวกหนึ่งเข้ามาทางแขวงคำม่วน และแขวงบอลิคำไซ ตอนกลางของลาว ผ่านมาทางหลักซาว นากาย ยมมะลาด มะหาไซ อีกส่วนหนึ่งข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาที่ท่าแขก จ.นครพนม คาดในราวรัชสมัยพระเจ้าปรา สาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา ก่อนเริ่มตั้งถิ่นฐานที่บ้านอาจสามารถ อ.เมือง จ.นคร พนมผศ.สมชาย เล่าต่อว่า ปัจจุบันชาวแสกอาศัยอยู่ในภาคอีสาน มีอยู่ 4 หมู่บ้าน ในจ.นครพนม คือ บ้านอาจสามารถ และบ้านไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครพนม ที่บ้านมะหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม และบ้านดอนสมอ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นคร พนม สำหรับบ้านอาจสามารถ อยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมแค่ประมาณ 5 กิโลเมตร ถือเป็นชนชาติ หรือชนเผ่าส่วนน้อย ส่วนคำว่าแสกนั้น จากการศึกษาของนักวิชาการลาว ก็ระบุว่าไม่มีใครรู้ความหมายของคำว่า "แสก" รู้แต่ว่าคนเผ่าอื่นเรียกกันและทางการก็ใช้คำว่าแสก
จากอีกหลักฐานที่พบ อาจเป็นไปได้ว่าพวกแสกอพยพหนีภัยการคุกคามของญวน เข้าไปอยู่ในเขตเมืองคำเกิด คำม่วน แต่เนื่องจากสำเนียงภาษาพูดแปร่งจากคนกลุ่มอื่นๆ ที่เข้าไป "แทรก" อาศัยอยู่กับพวกญ้อ ผู้ไท พวน แทนที่จะเรียกพวก "แซก" เลยกลายเป็น "แสก" จุดเด่นของชาวแสกคือ พิธีกรรม ดังที่ที่บ้านอาจสามารถมีพิธี "กินเตดเดน" บางครั้งเรียกว่า "เลี้ยงเดน" จะมีศาลเจ้าพ่อ "เดนหวั่วโองมู้" ชาวแสกจะนำข้าว เนื้อควาย ไปเซ่นไหว้ที่ศาล ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 จัดพิธีเลี้ยงช่วงเช้าเป็นต้นไป เป็นผีประจำเผ่า โดยคำว่า "กินเตดเดน" เป็นภาษาเวียด คำว่า "เตด" คือ "ตรุษ" เป็นที่รู้กันว่า "ตรุษแสก" สำหรับภาษาเขียนของชาวแสก พบว่าไม่มีตัวอักษรที่เป็นตัว ร เลย แต่จะมีภาษาปากที่ใช้อยู่ในกลุ่มของตนเท่านั้นเมื่อติดต่อกับคนภายนอกจะใช้ภาษาลาวเป็นหลัก แต่ก็มีภาษาชนเผ่าอื่นปนอยู่เช่นกัน คนกลุ่มภาษาตระกูลไทยลาวจะฟังภาษาแสกเข้าใจประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และหากประเมินทัศนะของแสกแล้ว จะพบว่ามีหลายภาษาปนอยู่ คือ ภาษาแสก ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ภาษาลาว 30 เปอร์เซ็นต์ และภาษาเวียดนาม 10 เปอร์ เซ็นต์ อีกทั้งในพิธีเลี้ยงนี้จะพิธีเต้น "สาก" เดิมจะมีแต่ผู้หญิงที่เต้นเท่านั้น ปัจจุบันมีผู้ชายร่วมเต้นด้วยส่วนชาวแสกที่บ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ มีพิธีกรรม "เสี่ยงหอย" เพื่ออธิษฐานขอฟ้าฝน โดยใช้หอยขม หรือหอยจูบ 3 ตัว ชาวแสกเรียกว่า "เสี่ยงโอก" ทำในตอนเย็น หรือประมาณ 1 ทุ่ม ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 สำหรับการแต่งตัวของชาวแสกจะคล้าย "ลาวโซ่ง" หรือ "ลาวดำ" เพราะการท่อผ้ายอมสีจะคล้ายกัน พื้นเดิมอยู่ที่ นาแมว นาบึก หัวพัน ส่วนใหญ่จะเป็น "ผู้ไทดำ" หรือ ลาวโซ่ง นี่เป็นส่วนหนึ่งของชาวแสกที่ถูกนำมาถ่ายทอดในเบื้องต้น เชื่อว่ายังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมากมายให้ค้นหาสำหรับชาติพันธุ์นี้ ต่างเกี่ยวข้องดองเป็นเครือญาติกันในภูมิภาค

ไม่มีความคิดเห็น: