วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

วิพากษ์ CSR(จากมติชน)

วิพากษ์ CSR ไทย

โดย เกษม ตั้งทรงศักดิ์ คณะพัฒนาสังคม นิด้า รุ่น 14



เป็นที่ยอมรับว่าเรื่องราวความรับผิดชอบต่อสังคมที่มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า CSR หรือ (Corporate Social Responsibility) ถือเป็นหนึ่งในกระแสความสนใจของสังคมไทย ที่มีการหยิบยกมาพูดคุยกันมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนา เสวนา พูดคุยกันอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการกล่าวถึงความสำคัญ แนวโน้มและทิศทางของการทำกิจกรรมหรือโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมจนถึงขั้นมีการทำหนังสือว่าด้วยเรื่องของ CSR ออกมาขายกันเป็นเรื่องเป็นราวมากมายทีเดียว

ผู้เขียนในฐานะที่พอมีประสบการณ์และเคยมีส่วนร่วมทำกิจกรรมและโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จะขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อการขับเคลื่อนเรื่องของ CSR ในเมืองไทย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์

ผู้เขียนเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าอะไรคือจุดอ่อนจุดแข็งที่ทำให้ CSR ในเมืองไทยถึงเพิ่งมาพูดคุยกันอย่างจริงจังในขณะนี้

ในระยะ 10 กว่าปีที่แล้ว ผู้เขียนสังเกตว่า

ประการที่ 1 เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในสายตาของแวดวงคนทำธุรกิจ การทำกิจกรรมสังคมแทบจะไม่อยู่ในสายตาของผู้นำธุรกิจเลย งาน CSR เป็นเพียงงานที่ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ไม่เห็นเป็นอะไรธุรกิจก็ยังดำเนินอยู่ได้

ดังนั้น เราจึงเห็นว่า งาน CSR ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร เป็นเพียงงานฝาก งานที่ทำเพราะองค์กรนั้นมองเพียง CSR เป็นเครื่องมือสร้างภาพ สร้างแบรนด์หรือเพื่อมาหักลบกลบเกลื่อนภาพที่ไม่ดีขององค์กรที่กระบวนการทำธุรกิจขององค์กรนั้นๆ ไปสร้างความเสียหายต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมในชุมชน

ประการที่ 2 ความเข้าใจในทิศทางงาน CSR นั้น ต่างมุ่งไปในลักษณะของการทำบุญทำทาน เป็นงานเชิงสังคมสงเคราะห์ ซึ่งไม่ใช่ไม่ดี แต่ผู้เขียนมองว่าเป็นวิธีการที่ไม่อาจแก้ปัญหาที่เป็นรากเหง้าของสังคมได้

งาน CSR ในสมัยก่อนไม่ได้มุ่งมั่นที่จะทำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสังคม ทำกันครั้งสองครั้งก็เลิกรากันไป กิจกรรมหรือโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมที่ผ่านมาจึงไม่จีรังยั่งยืน หรือเปลี่ยนแปลงไปตามผู้นำองค์กรมากกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

งาน CSR มักผูกติดกับตัวบุคคล ไม่ได้เป็น Core หลักขององค์กร งาน CSR เป็นเพียงส่วนหนึ่งอยู่กับฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไม่ได้มองถึงขั้นว่างาน CSR จะเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบันส่งผลให้ปัจจุบันองค์กรจึงประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและการสร้างคนที่จะมาทำงานทางสังคมอย่างจริงจัง

ซึ่งสรุปได้ว่าหลายองค์กรมีความเข้าใจในเรื่องของ CSR เป็นเรื่องผิวเผิน เป็นเรื่องเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ไม่ได้มีการมองแบบบูรณาการ หรือมีเป้าหมายเด่นชัด ปีไหนบริษัทมีกำไรก็ทำ ไม่มีกำไรก็ไม่ทำ ไม่เคยคิดจะทำเป็นรายงานอะไรออกมาให้สังคมรับรู้ เพราะรู้แล้วอาจอายได้

ไม่เพียงเท่านั้น ประการที่ 3 ภายในองค์กร ถูกมองด้วยทัศนคติที่ไม่ดี งาน CSR เป็นงาน ใช้เงิน เสียเงิน ทำแล้วไม่เห็นเม็ดเงิน มีแต่เสียกับเสีย ทั้งๆ ที่หลายกิจกรรม หลายโครงการไม่ต้องใช้เงินก็ทำได้ สมัยก่อนจึงไม่ค่อยมีใครอยากทำงาน CSR เพราะว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเป็นความสูญเปล่า

ทั้งที่หากบริหารจัดการให้เป็น จะเห็นว่างาน CSR กลับมีมูลค่าการลงทุนที่ต่ำกว่างานการตลาด งานการสร้างภาพ สร้างแบรนด์เป็นไหนๆ และมีค่าที่ประเมินไม่ได้

มาถึงวันนี้จึงมีคำตอบว่าทำไม คนในแวดวงธุรกิจจึงโหยหาความรู้เรื่อง CSR ก็เพราะอย่างที่ผู้เขียนบอก 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราไม่มีบุคลากร วิศวกรทางสังคมประจำองค์กร หลายองค์กรขาดคนทำงานด้านสังคม ขาดองค์ความรู้ในเรื่องของการคิด ริเริ่ม ดำเนินการ บริหารจัดการงานด้าน CSR หลายกิจกรรมเกิดแล้วดับ เปลี่ยนผู้นำองค์กรทีก็มาเริ่มต้นกันใหม่ ไม่มียุทธศาสตร์งานพัฒนาสังคม

ทุกวันนี้เราจึงได้แต่พูดกันในเชิงแนวคิด ทฤษฎีมากกว่าการปฏิบัติ เราไม่เคยถอดบทเรียนกันมาก่อน จะมีก็มาระยะหลังนี้เอง งาน CSR ใช้ทฤษฎีนำอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง

เริ่มตั้งแต่ตัวผู้นำองค์กร ตราบใดที่เบอร์หนึ่งขององค์กรไม่เข้าใจความหมายของงาน CSR ที่แท้จริงและถึงจะทำเพราะกระแสสังคม กฎเกณฑ์ กฎระเบียบทางสังคม กระแสความกดดันจากผู้บริโภค โดยไม่อยู่บนความสำนึกและถือความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรก็ยากที่จะทำให้งาน CSR ขององค์กรนั้นๆ เดินไปด้วยดี

นอกจากนี้ยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เช่น พื้นที่ ผู้คน หรือ ISSUE ที่จะทำนอกจากผู้นำองค์กรจะเข้าใจ คณะกรรมการบริษัท คนทำงานในองค์กร ไม่ว่าประชาสัมพันธ์คนทำงานด้านบุคลากร บัญชี การเงิน จัดซื้อ คนทั้งองค์กรจะต้องมีความเข้าใจ และเป็นสำนึกในฐานะอะไรก็แล้วแต่จะเป็นผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หัวหน้า คนขับรถ แม่บ้านเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

งาน CSR จึงเป็นงานที่ต้องมองเป็นองค์รวมเป็นเรื่องของการปลูกฝังสร้างจิตสำนึกกับคนทั้งองค์กร จึงจะจีรังยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าจะด้วยแรงกดดันทางสังคมโลก สังคมไทยเมืองไทยเรามีต้นทุนทางสังคมที่ดี เรามีหัวเชื้อของคุณงามความดี การช่วยเหลือเผื่อแผ่ ความรู้จักเมตตา สงสาร ทำอย่างไรที่องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ของเมืองไทยจะตระหนักและสำนึกในเรื่องนี้ เพราะตราบใดที่คุณทำธุรกิจมุ่งแสวงหากำไร ประสบความสำเร็จในเรื่องของยอดขาย มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ถ้าสังคมอยู่ไม่ได้แล้วคุณจะไปขายของให้ใคร ถ้าสิ่งแวดล้อมเสียหาย สังคมไม่สงบสุข มีแต่ความวุ่นวายแล้วคุณจะค้าขายแบบยั่งยืนได้อย่างไร

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่เกิดมีหน่วยงานกลาง สถาบันการศึกษาหลายแห่งให้ความสนใจและเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่อยากฝากว่า ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลางในเมืองไทยที่มีจำนวนเป็นแสนๆ รายนั้น เราจะช่วยต่อยอดถ่ายทอดความคิด องค์ความรู้และการนำไปใช้ได้อย่างไร องค์กรขนาดใหญ่ในเมืองไทย จำนวน 100 กว่ารายอาจจะเรียนรู้ แสวงหาองค์ความรู้ ช่วยตัวเองได้

ผู้เขียนเห็นว่าหลักไมล์ของการทำงาน CSR ในเมืองไทยวันนี้เราต้องแปรเปลี่ยนจากแนวคิดทฤษฎีมาเป็นหลักสูตรที่นำไปปฏิบัติได้ มีกรอบแนวทางการทำงานของการคิดงาน CSR ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างมีระบบ มีเครื่องมือตรวจ ติดตาม วัดผลได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปเพราะเราเพียงประยุกต์หลักการบริหารจัดการทางธุรกิจซึ่งมีมากมายมาใช้ให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการกิจกรรมและโครงการทางสังคม

และควรมีการสร้างโมเดลงาน CSR ในหลายรูปแบบหลายมิติเพื่อให้องค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็กนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ สังคม ชุมชนที่องค์กรนั้นๆ ตั้งอยู่

ผู้เขียนได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งบรรดา องค์กรท้องถิ่นอย่าง อบต. หรือ อบจ. ในแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาค ผู้ประกอบการธุรกิจ องค์การทางสังคมต่างๆ จะช่วยกันสร้างสรรค์กิจกรรม โครงการ CSR ดีๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาสังคม ชุมชน รวมทั้งองค์กรในท้องถิ่นกับส่วนกลางจะทำงาน CSR อย่างเป็นกระบวนการ

และเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันเป็นมิติใหม่ของงาน CSR ในเมืองไทย

ไม่มีความคิดเห็น: