วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551

เป็นธรรม จาก มติชน

เป็นธรรม-เป็นสุข

คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

โดย นฤตย์ เสกธีระ



ไม่รู้เป็นยังไงครับ ชีวิตช่วงนี้โคจรไม่พ้น "เอสซีจี"

คราวที่แล้วไปดูงาน "ฝายชะลอน้ำ" ที่ปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง 

อีกสองสัปดาห์ต่อมาเจอตัวจริงเสียงจริง คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือเอสซีจี

คุณกานต์มาให้ความรู้เรื่อง "ธรรมาภิบาลภายในองค์กร" เพราะเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่คุณกานต์เป็นลูกหม้อทำงานมาตั้งแต่เรียนจบ

เป็นองค์กรที่ได้ชื่อว่ามี "ธรรมาภิบาล"

ระหว่างการบรรยายมีคนสอบถามด้วยข้อข้องใจหลายเรื่อง แต่สิ่งที่ฟังแล้วน่าจดจำก็คือหัวใจในการบริหารงานของเอสซีจี

คุณกานต์บอกว่า ตั้งแต่ทำงานที่เครือซิเมนต์ไทยมาจนเป็นเอสซีจีในขณะนี้ 

ความแข็งแกร่งของการบริหารงานที่นั่นคือ "ความเป็นธรรม" 

"ความเป็นธรรม" นี่เองที่ทำให้ "ลูกน้อง" ไว้ใจ "เจ้านาย" และ "ลูกจ้าง" ไว้ใจบริษัท

และ "ความเป็นธรรม" อีกนั่นแหละที่เป็นหนึ่งใน 3 หลักแห่งธรรมาภิบาล

เป็นธรรม-โปร่งใส-มีความรับผิดชอบ

เห็นไหมครับว่า ความเป็นธรรมนั้นมีความสำคัญ

และมีความสัมพันธ์กับระดับความสุขของคนด้วย

ยกตัวอย่างที่เมืองจีนกันดีกว่า

เดิมทีคนจีนเขามีระบบคูปองอาหาร 

ทุกคนต้องทำงาน ทำงานเสร็จแล้วก็เอาคูปองที่ได้รับแจกตามสัดส่วนไปกินอาหาร

ไม่แบ่งแยกชั้นวรรณะ

สังคมจีนตอนนั้นลำบากลำบนมากครับ

แต่ทุกคนได้อยู่ได้กินเหมือนๆ กัน และชินชาต่อความยากลำบาก

ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พัฒนาประเทศ 

บางเมืองเปิดประเทศ นำเอาวิธีดำเนินชีวิตแบบตะวันตกมาใช้

แทนที่จะใช้คูปองแลกข้าว เปลี่ยนมาใช้เงินซื้อหาของกินตามระบบทุนนิยม

ดูเหมือนดีใช่ไหมครับ

แต่เขาพบว่าการนำระบบทุนนิยมมาใช้ ทำให้เกิดชนชั้นขึ้นในสังคม

คนจีนเริ่มกินอาหารไม่เหมือนกัน

คนมีรายได้น้อยแต่ทำงานหนัก เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

เมื่อรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้ความสุขทางกายจะดีขึ้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสูงปรี๊ด

แต่ความสุขทางใจกลับลดน้อยถอยลง 

นี่คืออิทธิพลของ "ความเป็นธรรม"

มิน่าล่ะคุณกานต์ บิ๊กบอสแห่งเอสซีจี จึงบอกว่า "ความเป็นธรรม" คือหัวใจของการบริหารที่นั่น

แล้วความเป็นธรรมคืออะไร?

คำตอบมีอยู่ใน "มงคลที่ 16" เรื่อง "ประพฤติธรรม" ครับ

ในมงคลที่ 16 พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ประพฤติธรรม 

หมายถึงปฏิบัติในสิ่งดีทั้งกาย วาจา และใจ

ต่อมามีผู้ขยายความเรื่องความประพฤติว่า นอกจากจะประพฤติธรรมแล้วต้อง "ประพฤติเป็นธรรม" ด้วย

ประพฤติเป็นธรรม คือ การกระทำที่ถูกต้อง ชอบด้วยเหตุผล และไม่มีอคติ รัก ชัง หลง กลัว

ตีความตามประสาซื่อ "การกระทำที่ถูกต้อง" คือ กระทำตามข้อตกลงของสังคมส่วนใหญ่

หรือการปฏิบัติตามครรลองแห่งขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม กฎหมาย หรืออื่นๆ ที่เป็นข้อตกลง

ชอบด้วยเหตุผล คือ มีเหตุที่จะต้องกระทำสิ่งนี้ 

เช่น ชมเชยเพราะเขาทำดี หรือตักเตือนเพราะเขาบกพร่อง

ส่วน "ไร้อคติ" นั้น หมายถึง การกระทำต้องเท่าเทียมกัน

เมื่อคนเราไม่มีความเหลื่อมล้ำ ทุกอย่างดำเนินไปตามข้อตกลง

อะไรควรได้ก็ได้ อะไรควรเสียก็ต้องเสีย

ที่สุดความสุขสงบก็เกิดขึ้น

มาถึงตรงจุดนี้ พอจะเห็นแล้วยังครับว่า สังคมไทยทุกวันนี้มันทุกข์ร้อนกันเพราะอะไร

เพราะการกระทำที่ไม่ทำตามข้อตกลง 

เพราะการกระทำที่ไม่มีเหตุผล 

และเพราะการกระทำที่มีอคติ

ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำ เอารัดเอาเปรียบ

เกิดเป็นความไม่เป็นธรรมขึ้น 

เห็นไหมครับว่า ความไม่เป็นธรรมไม่ได้เกิดแต่เฉพาะผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองเท่านั้น

ความไม่เป็นธรรมสามารถเกิดขึ้นได้ทุกระดับและทุกสถานที่

ความไม่เป็นธรรมสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกครอบครัว ทุกชุมชน อำเภอ จังหวัด และประเทศ

ความไม่เป็นธรรมสามารถเกิดขึ้นได้ทุกกาลเวลา

ความไม่เป็นธรรมสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกชนชั้น

เพียงแค่คนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง กระทำการที่ไร้เหตุผล และมีอคติ

ผู้ที่อยู่รอบข้างคนคนนั้น จะเกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมขึ้นมา 

ใครที่มีความรู้สึกอย่างนี้ก็เป็นทุกข์ล่ะครับ

พอเป็นทุกข์ก็ต้องดิ้นรนให้หลุดพ้น 

อาการดิ้นรนต่อสู้ความไม่เป็นธรรมนี่แหละครับที่ทำให้ความทุกข์ขยายไปเรื่อยๆ

ขยายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง 

ขยายจากหนึ่งคนไปสู่หลายคน

อย่างม็อบที่เกิดขึ้นและเรียกร้องกันอยู่ทั่วโลกนี่ก็เหมือนกัน 

ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากเรื่อง "เป็นธรรม-ไม่เป็นธรรม" ทั้งนั้น

ดังนั้น หากใครอยากอยู่เย็นเป็นสุข

กลับมาสำรวจตัวเองเสียหน่อยว่า ทำตามข้อตกลง ทำอย่างมีเหตุมีผล และทำโดยไร้อคติ กันหรือเปล่า

ถ้ากระทำอยู่ก็เข้าข่าย "เป็นธรรม"

ถ้าบิดเบี้ยวก็เข้าข่าย "ไม่เป็นธรรม"

ใคร องค์กรไหน ประเทศใด อยากมีสุขก็ต้อง "ประพฤติเป็นธรรม" 

แต่หากใคร องค์กรไหน ประเทศใด บิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนจากความเป็นธรรม

ก็เท่ากับลบ "ความสุข" ออกไปจากชีวิตอย่างน่าเสียดาย

สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น: