วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551

วงจรอุบาทว์ จาก มติชน

วงจรอุบาทว์ที่แท้จริง

คอลัมน์ วัยทวีนส์

โดย เอกลักษณ์ ยิ้มวิไล




"จริงอยู่ครับที่สังคมการเมืองไทยนั้นได้มีการปรับรูปโฉม และปรับเปลี่ยนมาโดยตลอด แต่แก่นแท้ของระบบการเมืองนั้นยังคงหนีไม่พ้นประเด็นเน่าๆ ซึ่งก็คือเรื่องของการยึดครองอำนาจ และหากินกับเงินทองของประชาชน" 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยึดอำนาจโดยทหารในอดีต หรือการออกมาเรียกร้องสิทธิของประชาชนด้วยกลุ่มนักศึกษา และกลุ่มคนชนชั้นกลางที่ได้อำนาจคืนมาจากทหารในปี พ.ศ.2516 

จนกระทั่งเกือบ 8-9 ปีที่ผ่านมานั้นรูปแบบการเมืองได้มีการพลิกผันด้วยการมีกลุ่มนายทุนเข้ามาบริหารประเทศชาติ เกิดการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยที่ได้รับชัยชนะอย่างล้นหลามในปี พ.ศ.2543 จนเป็นที่มาของแง่คิดระบอบการปกครองเชิง "ธนาธิปไตย" คือการที่กลุ่มนายทุนเข้ามาบริหารบ้านเมือง บ้างก็หากินจากความเดือดร้อนของผู้คนด้วยการแสวงหาสิทธิพิเศษและโครงการต่างๆ จากภาครัฐ โดยนำนโยบายประชานิยมมาเป็นฐานคะแนนเสียงอีกทีหนึ่ง ทำให้สังคมไทยเกิดการแบ่งแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มรากหญ้า และกลุ่มชนชั้นกลาง 

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกระหว่างคนไทยด้วยกัน จนทำให้เกิดปัญหาบานปลายมาถึงวันนี้ 

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยตลอดระยะเวลา 40-50 ปีที่ผ่านมา ประเด็นด้าน "ประชาธิปไตย" กลับกลายเป็นพื้นฐานแห่งการขัดแย้งทางสังคมมาโดยตลอด 

"ความขัดแย้งนี้สามารถอธิบายในเชิงหลักการได้ว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้วนั้น คือความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็น มีเสรีภาพในการพูดและคิด โต้วาทีเพื่อสังคมที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น" 

สิ่งนี้ถือว่าเป็นความคิดเชิงการเมือง เชิงอุดมการณ์ที่ยึดแนวคิดเสรี และเน้นเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก แต่ปัญหาอยู่ที่ "วัฒนธรรมการเมืองไทย" ทั้งทางภาครัฐและภาคประชาชน กล่าวคือนำความขัดแย้งทางความคิดไปใช้ในทางที่ผิด 

ผมขอเรียนตามตรงเลยครับว่า ในมุมมองของคนรุ่นใหม่แล้วนั้น 

""การเมืองที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนในสังคมไม่ใช่การเมืองที่แท้จริง" แต่เป็นการเมืองที่นำความขัดแย้งทางความคิดไปสู่ความรุนแรงด้วยการยั่วยุ เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่อ้างว่าทำเพื่อประชาชน เพื่อประชาธิปไตย" 

โดยสร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นจากภาพลักษณ์ และอุดมการณ์ที่ดูเหมือนจะดี แต่สุดท้ายกลับนำความศรัทธาของผู้คนมาเป็นเกราะกำบัง มาเป็นอาวุธทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้สังคมไทยในวันนี้เกิดความรุนแรงทางความคิด และทางปฏิบัติ และสุดท้ายกลายเป็นสังคมที่แตกอย่างเป็นเสี่ยงๆ ในวันนี้ 

"ประชาธิปไตยไม่ใช่การแบ่งพรรคแบ่งพวก ตีกันจนบาดเจ็บล้มตายไปตามๆ กัน ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน"

พวกเราได้แต่คาดหวังไว้ว่าการเมืองในอนาคตจะสดใสมากกว่าเดิม ถึงแม้ว่าแก่นแท้ยังหนีไม่พ้นเรื่องของผลประโยชน์และการฉ้อราษฎร์บังหลวง 

แต่ปัญหาที่แท้จริงนั้นกลับกลายเป็น ทั้งๆ ที่การเมืองไทยเป็นเช่นนี้ แต่ "ผู้คนกลับรับได้" 

เราก็ต้องกลับมาถามตนเองว่ารับได้เพราะอะไร ถึงแม้ว่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าพวกนี้เป็นพวกหากินบนกระดูกสันหลังของชาติ พวกเรารู้ว่าเขากินกันมากน้อยขนาดไหน แต่กลับปล่อยวาง 

"ปัญหาอยู่ที่ความคิดและความเข้าใจของพวกเราชาวไทยที่ยังไม่พัฒนามิติทางความคิดด้านการเมืองและการปกครอง" 

การเมืองไทยก็เหมือนกับคนที่อยู่ในห้องไอซียู รัฐธรรมนูญก็ไม่ต่างอะไรไปจากเครื่องช่วยหายใจราคาถูก ใช้แป๊บเดียวก็พัง จนหลายฝ่ายพูดว่า "วงจรอุบาทว์" ย่อมไม่มีวันสิ้นสุด และมักจะโทษนักการเมือง 

"แต่วงจรอุบาทว์นั้นเริ่มต้นที่พวกเรานั่นแหละครับ ตราบใดที่เรายังไม่เข้าใจว่าวงจรอุบาทว์นั้นคืออะไร ประชาธิปไตยย่อมไม่มีวันเต็มใบ" 

"วงจรอุบาทว์ภาคประชาชน" ก็คือช่องโหว่ทางความคิด ความเข้าใจ การรู้จักโครงสร้างทางการเมืองและการปกครอง รวมถึงการเรียกร้องสิทธิภาคประชาชน ซึ่งมีคนจำนวนน้อยที่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ 

ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงเรื่อง ""การศึกษาด้านการเมืองการปกครองที่เน้นสิทธิของประชาชน"" ที่พวกเราต้องรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น 

ในวันนี้ผู้คนแบ่งพรรคแบ่งพวก ไม่กล้าพูดเรื่องการเมือง ไม่กล้าหยิบยกประเด็น เพราะกลัวจะทะเลาะกัน ขนาดเพื่อนรักยังทะเลาะ ครอบครัวยังแบ่งแยกขัดแย้งกันเอง เพราะเกิดจาก "ความศรัทธา" ในตัวนักการเมืองแบบผิดๆ 

"สิ่งที่ควรพัฒนาคือความคิด คิดให้ทันการเมืองเพื่อให้ทันเล่ห์นักการเมือง จึงเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตยที่ถ่องแท้" 

คนรุ่นใหม่ต้องรู้จริง คิดให้ทัน เมื่อวันนั้นมาถึงประชาชนคงไม่ต้องเกรงใจ และคาดหวังนักการเมืองถึงเพียงนี้ เพราะสุดท้ายอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือของท่านเอง 

"ประชาธิปไตยไม่ใช่อำนาจของ ส.ส.หรือฝ่ายบริหาร ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เสียงโห่ร้องของคุณ แต่เป็นความคิดและความเข้าใจของคุณมากกว่าครับ"

ไม่มีความคิดเห็น: