วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ตำนานข้าวหอมมะลิ จากมติชน

วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6373 ข่าวสดรายวันสุนทร สีหะเนิน ตำนาน"ข้าวหอมมะลิ"มนตรี จิรพรพนิต
ปี2551 นับเป็นปีที่ชาวนาไทยดูจะมีความสุขกว่าที่ผ่านมา หลังจากราคาข้าวกระโดดขึ้นไปสูงถึงเกวียนละมากกว่า 15,000 บาท อย่างล่าสุดราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ศูนย์จังหวัดอุดรธานี ราคา 18,500-19,000 บาทต่อเกวียน หรือที่ศูนย์จังหวัดสุรินทร์อยู่ที่เกวียนละ 18,000-18,100 บาทสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความขาดแคลนข้าวในตลาดโลก จนหลายประเทศที่เป็นคู่แข่งในการส่งออกข้าวสู่ตลาดโลก พากันออกกฎห้ามจำหน่ายข้าวสารออกนอกประเทศโดยเฉพาะข้าวของไทยเราคือ "ข้าวขาวดอกมะลิ" หรือเรียกกันติดปากว่า "ข้าวหอมมะลิ" เป็นที่ต้องการของตลาดโลก เพราะได้รับการยอมรับแล้วว่า เป็นข้าวที่เมื่อหุงแล้วจะมีกลิ่นหอมหวาน เม็ดข้าวนุ่มนวล รสชาติอร่อยที่สุด เป็นหนึ่งในพันธุ์ข้าวที่หลายประเทศทั่วโลกยอมรับ จากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่นิยมปลูกกันในพื้นที่เพียงตำบลเดียวในไทย คือ ต.ท่าทองหลาง อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา สู่ความยิ่งใหญ่ของความเป็นข้าวที่ทุกคนในโลกต้องการ มาจากอดีตข้าราชการชั้นผู้น้อยคนหนึ่งชื่อ "สุนทร สีหะเนิน" อดีต ผอ.สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบสายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 อันโด่งดังคุณตาสุนทร ในวัย 86 ปี เปิดบ้านพาย้อนรำลึกความหลังให้ฟังว่า เกิดในครอบครัวชาวนา อ.กันตัง จ.ตรัง เรียนจบชั้น ม.6 ในตัวจังหวัด จากนั้นไปเรียนต่อที่โรงเรียนแม่โจ้ หรือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบันสมัยนั้นโรงเรียนแม่โจ้เป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าเรียนเป็นรุ่นที่ 7 ในพ.ศ.2483 รุ่นเดียวกับ ศ.ระพี สาคริกสำเร็จการศึกษาในปี 2485 จึงกลับไปอยู่ที่บ้าน จ.ตรัง เพราะอยู่ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ระหว่างนั้นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ส่งจดหมายให้มาเข้าเรียน เพราะได้รับโควตาจากโรงเรียนแม่โจ้ เพราะเรียนดี แต่สมัยนั้นบ้านยากจน จึงไม่มีเงินที่จะส่งให้เรียนได้
กระทั่งเดือนตุลาคมปีเดียวกัน กรมเกษตรส่งจดหมายแจ้งว่า กำลังรับสมัครนักศึกษาที่จบจากโรงเรียนแม่โจ้ เพื่อบรรจุเป็นพนักงานส่งเสริมการเกษตร จึงสมัครสอบเข้าเป็นพนักงานข้าว กรมเกษตร วันที่ 1 ม.ค. พ.ศ.2486 กรมเกษตรบรรจุให้เป็นพนักงานข้าว อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ได้เงินเดือน 34 บาท แต่เพราะเป็นคนปักษ์ใต้ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ข้าวของภาคกลาง จึงขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมไปได้หนังสือเล่มหนึ่งเขียนโดย ม.ล.ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา หัวหน้าสถานีทดลองรังสิต ชื่อ "มารยาแม่โพสพ" เป็นหนังสือเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวทั่วประเทศ แต่เน้นในเขตภาคกลาง จนมีความรู้พอทำงานได้เมื่อเริ่มทำงาน รุ่นพี่ซึ่งคุณตาสุนทรจะต้องไปแทนตำแหน่งแนะนำว่า นอกจากข้าวแล้วยังต้องเรียนรู้พืชอื่นๆ ด้วยเพราะตำแหน่งที่ไปทำนั้นแม้จะชื่อว่าพนักงานข้าว แต่ต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับการเกษตรทุกอย่าง เพื่อคอยให้คำปรึกษานายอำเภอ ปลัดอำเภอ และเกษตรกรทุกคน เหมือนเกษตรอำเภอในสมัยนี้คุณตาสุนทรย้ำให้ฟังว่า สิ่งที่จะต้องเรียนรู้ใน อ.บางคล้า มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ สับปะรดคลองท่าลาด มะม่วงบางคล้า และข้าวหอมมะลิโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ในสมัยนั้นเป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่มีชื่อเสียงมาก แต่มีปลูกเป็นจำนวนน้อย เฉพาะในพื้นที่ ต.ท่าทองหลาง พร้อมทั้งแนะนำให้ไปขอความรู้กับ "ขุนทิพย์" กำนันตำบลท่าทองหลาง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวหอมมะลิที่สุดในยุคนั้นขุนทิพย์ให้ความรู้ว่า ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวพื้นบ้านของ ต.ท่าทองหลาง เป็นที่นิยมของคหบดีที่มีชื่อเสียงจากเมืองหลวง หากมา อ.บางคล้า จะต้องมาซื้อข้าวหอมมะลิท่าทองหลางแต่ด้วยเป็นข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวนาปีปลูกได้ครั้งเดียวต่อปี และเป็นข้าวเบา ต้องปลูกในที่นาดอนที่เป็นดินร่วนปนทรายเท่านั้น ซึ่งใน อ.บางคล้า มีเพียง ต.ท่าทองหลาง เท่านั้นที่เหมาะสมสำหรับปลูก จึงเป็นเหตุให้แม้จะได้รับความนิยมและราคาสูง แต่ไม่สามารถปลูกได้อย่างแพร่หลายออกไป
หลายครั้งที่มีผู้พยายามนำพันธุ์ข้าวหอมมะลิท่าทองหลางออกไปปลูกนอกพื้นที่ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ เคยมีผู้ที่พยายามนำพันธุ์ข้าวหอมมะลิออกไปปลูกที่อื่นครั้งใหญ่ที่สุด คือประมาณปีพ.ศ.2492 พนักงานข้าว อ.บางเขน ชื่อ สุนันท์ ยุวนานนท์ มาพร้อมกับคุณหญิงของพระนรราชจำนงค์ ปลัดกระทรวงเศรษฐการ หรือกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบันขอซื้อพันธุ์ข้าวหอมมะลิ เพื่อไปปลูกในพื้นที่ อ.บางเขน ได้ไปประมาณ 10 ถัง ปลูกในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ผ่านไป 1 ปีก็มีจดหมายมาบอกว่า ไม่ได้ผล ข้าวไม่ขึ้น ไม่ออกรวง รวงลีบ หรือให้ผลผลิตน้อยจนไม่คุ้มทุน ต้องเลิกความคิดที่จะขยายพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิจนทุกคนคิดว่าข้าวหอมมะลิเป็นข้าวประจำถิ่น ไม่สามารถนำไปปลูกยังพื้นที่อื่นได้ต่อมาในสมัยสงครามเย็น ผู้นำโลกเสรีที่ต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างอเมริกา ต้องการใช้ไทยเป็นเกราะกำบังในการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชีย จึงให้ความช่วยเหลือในด้านการทหารและเศรษฐกิจ เมื่อพ.ศ.2493โครงการดังกล่าวมองว่า เศรษฐกิจไทยเดินได้ด้วยชาวนาเป็นหลัก จึงเข้ามาช่วยชาวนาไทยด้วยการพัฒนา และคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุดให้เพาะปลูกสหรัฐส่งผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์พืชมาเป็นที่ปรึกษาโครงการ ฝึกอบรมนักวิชาการไทย จำนวน 30 คน จาก 36 จังหวัด โดยคุณตาสุนทรเป็นหนึ่งที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนั้น หลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรมรับมอบหมายให้วางแผนเก็บพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดตามทฤษฎีที่เรียนมา ในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ชลบุรี ได้ทั้งหมดจำนวน 25 สายพันธุ์ โดยไม่มีข้าวหอมมะลิอยู่ในจำนวนนั้นด้วยแต่ระหว่างที่เฝ้าติดตามดูการเจริญเติบโตของข้าวทั้ง 25 สายพันธุ์ ต้องเดินผ่านพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิทุกวัน สังเกตว่าข้าวหอมมะลิปลูกหลังพันธุ์อื่นแต่เจริญเติบโตรวดเร็วกว่าจนเก็บเกี่ยวได้ก่อน ประกอบกับเห็นว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงของ อ.บางคล้า จึงเสนอเรื่องไปยังกรมเกษตร เพื่อเพิ่มข้าวหอมมะลิเป็นสายพันธุ์ที่ 26 ในการทดลองเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวจึงเข้าไปคัดรวงข้าวที่ดีที่สุด จำนวน 200 รวง เป็นตัวอย่างส่งไปให้กรมเกษตรพร้อมกับ 25 สายพันธุ์ที่คัดเลือกไว้ก่อนหน้าโดยตัวอย่างข้าวหอมมะลิถูกนำไปทดลองปลูกที่สถานีทดลองโคกสำโรง จ.ลพบุรี โดยใช้ข้าวนางมณ เป็นข้าวหอมเช่นกัน แต่เป็นพันธุ์พื้นเมืองของรังสิต เป็นต้นแบบในการเทียบเคียงการทดลองปลูกจะนำเมล็ดข้าวของแต่ละรวงมาปลูกเรียงกันเป็นแถวในกระบะทีละเม็ด จนครบทั้ง 200 รวง บำรุงอย่างดีปลายปี 2494 เมื่อข้าวโตจนให้ผลผลิตแล้ว ผลการทดลองปรากฏว่าจำนวน 199 รวงของข้าวหอมมะลิให้ผลผลิตที่ต่ำกว่าข้าวนางมณ มีเพียงรวงเดียวเท่านั้นที่ให้ผลผลิตที่สูงกว่า คือ รวงที่ 105จึงเป็นที่มาของชื่อสายพันธุ์ว่า "ข้าวขาวดอกมะลิ 105" หรือข้าวหอมมะลินั่นเอง จากนั้นนำผลผลิตที่ได้ไปขยายพันธุ์ จนเก็บเกี่ยวได้พันธุ์ข้าวเป็นเกวียนใน พ.ศ.2496 และกระจายพันธุ์ข้าวที่ได้ไปปลูกในทุกพื้นที่ของประเทศไทยกระทั่ง พ.ศ.2501 หลังจากทดลองปลูกติดต่อกันมา 6 ปี จึงพบว่า ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน เพราะเป็นดินร่วนปนทราย ลักษณะเป็นนาน้ำฝน สิ่งที่พิเศษคือ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นสายพันธุ์ที่ทนแล้งมากที่สุด เหมาะจะปลูกในภาคอีสานที่สุดจนกลายมาเป็นข้าวหอมมะลิอันโด่งดัง รางวัลที่ได้รับ ฐานะผู้ค้นพบพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105พ.ศ.2536 โล่เชิดชูเกียรติ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2543 โล่เชิดชูเกียรติ จากกรมปรับปรุงพันธุ์ข้าวและขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่ชาวนาไทยและประเทศชาติศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยแม่โจ้สวทช.ประกาศให้เป็น 1 ใน 100 ผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติในรอบ 100 ปีพ.ศ.2550 โล่ประกาศเกียรติคุณ จากกรมการข้าว ฐานะผู้มีผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาข้าวไทย

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากๆๆค่ะสำหรับบทความดีๆ